วันอังคารที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2552

ทกวีคัดค้านอิสราเอลโจมตีปาเลสไตน์

สำนักข่าวมุสลิมไทย บทกวีคัดค้านอิสราเอลโจมตีปาเลสไตน์
www.muslimthai.com

บาชา - เมื่อวันจันทร์ที่ 5 มกราคม 2552 นอกจากมีพี่น้องมุสลิมไทยไปประท้วงที่สถานทูตอิสราเอลแล้ว ยังมีกลุ่มบทกวี พวกเค้าได้กระทำการเช่นเดียวกัน แต่อารมณ์ ความรู้สึก บรรยากาศ เชิญชวนให้ประท้วงเป็นอย่างยิ่ง ผู้ที่ผ่านไปมา ได้เห็น ได้ยิน ต่างชื่นมื่น กับการขับลำเนากวี ไปตามๆ กัน

         ผู้สื่อข่าวมุสลิมไทย ได้ไปกล่าวสลามฯ กับบุรุษหนุ่ม (มุสลิมรูปงาม นาม ซะการีย์ยา อมตยา) ก็ได้ พูดคุยเสวนาแลกเปลี่ยนแนวคิด  กวีหนุ่มมุสลิมท่านนี้ได้ ให้ข้อคิดที่ชวนเสน่หาไว้อย่างมากมาย ทั้งนี้พยายามหยิบมาบอก มาเล่าให้รับทราบ

อิสราเอล จงฟังข้าฯ
          (Höre Israel โดย Erich Fried)(1974)
เมื่อพวกเราถูกไล่ล่า 
ข้าฯ เป็นหนึ่งของพวกเจ้า
จะให้ข้าฯ เป็นเช่นนั้นต่อไปได้อย่างไร
ในเมื่อเจ้าได้กลายเป็นผู้ไล่ล่าเสียเอง
เจ้าโหยหาที่จะเป็น
เช่นชนชาติอื่น
ที่เคยฆ่าพวกเจ้า
มาบัดนี้เจ้าก็เป็นเช่นพวกเขาไปเสียแล้ว…

เอรีช ฟรีด

(เจตนา นาควัชระ แปล)

          เที่ยงจรดบ่ายของวันจันทร์ที่ 5 มกราคม ที่ผ่านมา ความร้อนระอุบนถนนของซอยสุขุมวิท 19 ไม่ได้ทำให้เหล่ากวีหนุ่มสาวล้มล้างความมุ่งมั่นที่นำพาพวกเขามายืนหน้าตึกสูงแห่งนี้ ซึ่งมีประจักษ์พยานแห่งความไร้มนุษยธรรมอย่าง “สถานฑูตอิสราเอล” ตั้งอยู่บนชั้น 15  
           พวกเขาไม่สนใจหรอกว่าเจ้าหน้าที่บนนั้น หรือรัฐบาลของประเทศผู้กระทำจะได้ยินหรือไม่ เพราะที่สำคัญ คือ พวกเขาต้องการแสดงเจตจำนงค์ปฏิเสธและคัดค้านการกระทำของอิสราเอลต่อปาเลสไตน์ที่กำลังเกิดขึ้น ห้วงขณะที่กลิ่นคาวความตายยังคละคลุ้งบนผืนดินของฉนวนกาซ่าอย่างไม่มีทีท่าจะจางคลาย ป้ายผ้าข้อความ “Holocaust in your hand” และ “Stop Killing” ที่เขียนขึ้นด้วยสีแดง ได้ถูกขึงตึงเพื่อให้ทุกคนมองเห็น

คำประกาศ
ตราบใดที่แผ่นดินของฉันยังเหลืออยู่เท่าฝ่ามือ
ตราบใดที่ฉันยังมีต้นมะกอกอยู่ต้นหนึ่ง
อีกทั้งต้นมะนาว
บ่อน้ำ และต้นกระบองเพชร
ตราบใดที่ฉันมีความทรงจำอยู่อย่างหนึ่ง
มีห้องสมุดน้อยน้อย
มีภาพของคุณปู่ และฝาผนังบ้าน
ตราบใดที่ภาษาอาหรับยังได้รับการขับขาน
อยู่ในแผ่นดินของฉัน
มีคำเขียนบทกวี
มีกาพย์กลอนเรื่องสงครามเปอร์เซียกับโรมัน
ตราบใดที่ฉันยังมีดวงตา
มีริมฝีปากและมีมือ
มีตัวฉันเอง!
ฉันจักประกาศต่อหน้าศัตรูคู่อาฆาต
ถึงการต่อสู้เพื่อการปลดปล่อยอันดุเดือด
ในนามแห่งอิสรชนทุกหนแห่ง
ทั้งกรรมกร กวี นักศึกษา
ฉันจักประกาศก้อง
ปล่อยให้พวกขี้ขลาด ศัตรูของดวงอาทิตย์
พึงพอใจอยู่กับขนมปังแห่งความอับอายเถิด
ตราบใดที่ฉันยังคงอยู่
อีกทั้งขนมปังและท่อนแขน
ในมือของนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพ !

มะห์มูด ดารวิช

(กิติมา อมรทัต แปล)

         พวกเขาผลัดเปลี่ยนกันแสดงเจตจำนงคนแล้วคนเล่า ด้วยท่วงทำนองและน้ำเสียงอันบีบคั้น ปวดปร่า  เริ่มจากกวีหนุ่มรางวัลนายอินทร์อวอร์ดอย่าง มูหัมหมัดฮาริส กาเหย็ม   ต่อเนื่องด้วย กฤช เหลือลมัย , ลัดดา สงกระสินธ์ , ซะการีย์ยา อมตยา , มงคล เปลี่ยนบางช้าง , มัคคุเทศน์ทางวิญญาณ , อาณัติ แสนโท  

           “คนอาจรับทราบข่าวนี้กันอยู่แล้ว แต่หลายคนอาจจะไม่ได้อ่านบทกวี จึงหวังว่า อาจมีบางช่วงของบทกวีที่ผู้คนที่เดินผ่านไปมาได้ฟังและนำไปคิดต่อ ทั้งนี้ เชื่อว่าการเรียกร้องให้ยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผ่านการอ่านบทกวีจะลึกซึ้งมากกว่าการเรียกร้องเฉยๆ เพราะเป็นการถ่ายทอดผ่านผู้ถูกกระทำ”   ลัดดา กวีสาวกล่าว 

         เหล่ากวีและศิลปินอิสระที่เข้าร่วม ยังวางว่าอาจเคลื่อนไหวในประเด็นเดียวกันนี้เป็นระยะต่อไป  แต่อาจเป็นสถานที่อื่นที่จะสื่อสารสาธารณะได้ดีกว่า เช่น ตรอกข้าวสารหรือถนนพระอาทิตย์ 

จับเข่าคุยกัน
มุสลิมไทย: กิจกรรมของกลุ่มมีอะไรบ้าง  
           จริง ๆ แล้ว กลุ่มของเราไม่ได้เป็นกลุ่มอย่างเป็นทางการ แต่เป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ จากเพื่อนนักเขียน กวีและศิลปิน ซึ่งสนใจในสิ่งเดียวกัน แรกๆ เป็นการพูดคุยกันต่อประเด็นงานเขียน จนกระทั้งพัฒนามาเป็นการจัดงาน อ่านฟังบทกวี Live Poetry ซึ่งเรากำลังจะจัดครั้งที่ 5 ในวันเสาร์ ที่ 10 มกราคม 2552

(ดูรายละเอียด http://www.thaipoetsociety.com/index.php?topic=306.0 )

         เพราะเราเห็นว่ากวีนิพนธ์ควรเป็นส่วนหนึ่งในการสื่อสารกับสังคม โดยเฉพาะเมื่อเกิดความรุนแรง หรือกรณีปัญหาที่มีความซับซ้อน เช่นที่สังคมไทยยังมองกรณีอิสราเอส ปาเลสไตน์เพียงผิวเผิน ทั้งที่เรื่องนี้สามารถเชื่อมโยงไปถึงลัทธิการล่าอาณานิคมที่ยังดำรงอยู่ในศตวรรษนี้  คิดว่ากวีนิพนธ์น่าจะมีส่วนในการเป็นพลังทางปัญญาในสังคมไทย เราก็เลยพยายามรวมตัวกัน ซึ่งถือว่าเป็นการออกมาเคลื่อนไหวกับสถานการณ์เป็นครั้งแรก  และคิดว่าคงมีครั้งต่อๆ ไป

มุสลิมไทย: อะไรเป็นมูลเหตุที่ทำให้กลุ่มประท้วง
         สะเทือนใจต่อการกระทำอันอุกอาจของรัฐบาลอิสราเอล เมื่อได้ติดตามข่าวคราว รู้สึกไม่ไหวแล้ว ต้องทำอะไรสักอย่าง ในฐานะของกวีจึงคิดว่าบทกวีมีพลังเพียงพอที่จะรับใช้สำนึกที่เกิดขึ้นนี้ได้ จึงต่อสายสอบถามเพื่อนๆ ว่า “เราจะไปอ่านบทกวีที่หน้าสถานฑูตอิสราเอล” และทุกคนก็รู้สึกตรงกันว่า เราน่าจะทำอะไรสักอย่าง 
 
มุสลิมไทย: ในกรณีที่อิสราเอลมีการโจมตีต่อไปเรื่อยๆ  ทางกลุ่มมีแนวคิดที่จะทำอย่างไรต่อไป
         พยายามสร้างความเข้าใจให้กับผู้คนของประเทศนี้ ผ่านทางงานเขียนและสื่ออื่นๆ ทั้งยังเชื่อว่าบทกวีส่งผลต่อสำนึกภายใน มีพลังกระตุ้นที่โน้มนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า อาจจะไม่ถึงขั้นเปลี่ยนแปลงโลกได้ แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิดของคนอ่านคนฟังแม้เพียงคนเดียว นับว่าเกินพอแล้ว

มุสลิมไทย: บทกวีที่นำมาสื่อสารนี้ แต่งเฉพาะเหตุการณ์ปัจจุบันหรือนำมาจากไหนบ้าง
          บทกวีบางชิ้นเขียนขึ้นเพื่อกรณีนี้ บางชิ้นคัดจากหนังสือกวีนิพนธ์นานาชาติ แต่ส่วนใหญ่ที่ใช้อ่านในครั้งนี้เราคัดมาจากหนังสือ “เลือดไม่ใช่น้ำตา” ลำนำจากปาเลสไตน์ แปลและรวบรวมโดยอาจารย์กิติมา อมรทัต
          เป็นหนังสือรวมกวีนิพนธ์ของกวีปาเลสไตน์ 11 คน  หากใครปรารถนาที่จะเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของชาวปาเลสไตน์แล้ว หนังสือเล่มนี้เป็นอีกทางหนึ่งที่จะเข้าถึงเสียงของชาวปาเลสไตน์ผู้ตกเป็นเหยื่อความอยุติธรรมของผู้ปล้นชิงแผ่นดินอย่างอิสราเอล

มุสลิมไทย: อยากฝากอะไรให้กับพี่น้องมุสลิมไทยบ้าง
         อยากให้สำนึกรักความยุติธรรมเช่นนี้ที่มีต่อชาวปาเลสไตน์มีเช่นกันต่อเพื่อนมนุษย์โดยข้ามโพ้นพรมแดนของชาติพันธ์และศาสนา

จบการรายงานข่าว - มุสลิมไทยดอทคอม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น